EXIM BANK ชี้ดัชนีชี้นำการส่งออกไตรมาส2 ต่ำสุดรอบ 6 ไตรมาส

03 กรกฎาคม 2568
EXIM BANK ชี้ดัชนีชี้นำการส่งออกไตรมาส2 ต่ำสุดรอบ 6 ไตรมาส

EXIM BANK ชี้ดัชนีชี้นำการส่งออกไตรมาส2 ต่ำสุดรอบ 6 ไตรมาส บ่งชี้ว่า การส่งออกไทยไตรมาส 3 มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอลง ภาคการผลิตไทยยังไม่กระเตื้อง และราคาส่งออกถูกกดดันจาก Demand ที่ไม่สดใส และ Supply ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์สงครามการค้าล่าสุดแม้เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีนมีการเจรจาพักรบกันชั่วคราว โดยต่างฝ่ายต่างปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าลงฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน (สหรัฐฯ เก็บภาษีจีนเหลือ 30% และจีนเก็บภาษีสหรัฐฯ เหลือ 10%)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ Downside Risks ยังคงปกคลุมการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีชี้นำการส่งออกของไทย (EXIM Index)

ล่าสุด ณ ไตรมาส 2 ปี 2568 อยู่ที่ 100.5 ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส บ่งชี้ว่า การส่งออกไทยไตรมาส 3 ปี 2568 มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยกดดันใน 4 มิติ ดังนี้

  • มิติที่ 1: เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอลง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศส่งสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักของสงครามการค้าครั้งนี้ และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทย (สัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกรวม) สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ณ เดือนพฤษภาคม 2568 ของทั้งสองประเทศปรับลดลงมาอยู่ในโซนหดตัวพร้อมกันเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ประกอบกับหากพิจารณา GDP ไตรมาส 1 (q-o-q) ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 12 ไตรมาสที่ 0.2% นอกจากนี้ การส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยไปสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นแบบ Front-Load ในไตรมาส 1 ปี 2568 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2

หลังทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีในอัตราสูงสุดกับประเทศส่วนใหญ่ และจีนออกไป 90 วัน สิ้นสุด ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 และ 12 สิงหาคม 2568 ตามลำดับ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าหลังช่วงเวลาดังกล่าวคำสั่งซื้อจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากที่มีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้าไปแล้ว

  • มิติที่ 2: ภาคการผลิตไทยยังไม่กระเตื้อง

เมื่อพิจารณาด้านอุปทานยังมีความน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตของไทยที่ยังฟื้นตัวเปราะบาง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจด้านภาวะส่งออกใน 3 เดือนข้างหน้า (ณ พฤษภาคม 2568) หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากความกังวลเรื่องภาษีของทรัมป์

ประกอบกับหลายอุตสาหกรรมของไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ ซึ่งสร้างแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยอาจเผชิญกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เร่งตัวขึ้นระยะสั้น หลังค่าระวางเรือทั่วโลก โดยเฉพาะเส้นทางจากจีนไปสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2568 จากความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น

สะท้อนได้จากยอดจองตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 150% ในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากมีการเร่งส่งออกอีกครั้งหลังสหรัฐฯ กับจีนพักรบกันชั่วคราว ประกอบกับสหรัฐฯ เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมเรือจีนทั้งที่สร้างในจีนและเรือสัญชาติจีนในเดือนตุลาคม 2568 ขณะเดียวกัน 

ผู้ส่งออกทางเรืออาจเผชิญข้อจำกัดด้านเวลาในการขนส่งให้ทันวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ก่อนที่ทรัมป์อาจกลับมาขึ้นภาษีกับไทยที่ 36% ทำให้การส่งออกหลังจากนี้อาจชะลอลงเพื่อรอความชัดเจนในการเจรจาก่อน 

  • มิติที่ 3: ราคาส่งออกถูกกดดันจาก Demand ที่ไม่สดใส และ Supply ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปัจจุบันจะเร่งขึ้นระยะสั้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนที่ราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง และการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC 

ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโลกก็มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นปี 2568 จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนหลายประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะอินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งตั้งแต่ปลายปี 2567 กดดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงอย่างมาก

ปัจจัยข้างต้นมีส่วนทำให้ดัชนีราคาส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2568 ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) และธนาคารโลกคาดว่า ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรโลกปี 2568 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนราว 20% และ 4% ตามลำดับ

สิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการบางส่วนลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกดดันให้มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร (สัดส่วนราว 10% ของส่งออกรวม) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (สัดส่วนราว 10% ของส่งออกรวม) ปรับลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • มิติที่ 4: ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกยังเปราะบาง สะท้อนทิศทางการค้าโลกมีแนวโน้มซบเซา

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของหลายประเทศทั่วโลกปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2568 ทั้งจีน ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่แม้จะเร่งขึ้นระยะสั้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์แย่ลง (ต่ำกว่า 100)

โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัว+เงินเฟ้อสูง) จากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีของทรัมป์ สะท้อนทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มชะลอลง 

แม้ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 จะขยายตัวได้ 14.9% จากการเร่งนำเข้าของสหรัฐฯ ก่อนการปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ของทรัมป์ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกไทยช่วงไตรมาส 3 ปี 2568 จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นและถือเป็นห้วงเวลา Turning Point สำคัญ สอดคล้องกับทิศทางของ EXIM Index ที่ลดลงจากทั้ง 4 มิติที่กล่าวข้างต้น 

โดยเฉพาะหากหลัง 90 วันของการเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจากไทยสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ไทยยังเจรจาไม่สำเร็จ ส่งผลให้ภาษีกลับมาอยู่ในระดับสูงสุดที่ 36% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศ 

รวมถึงจีนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรา 30% จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2568 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่งเพิ่มเติม กดดันคาดการณ์ส่งออกในครึ่งปีหลังให้ทั้งปีขยายตัว 0.5-1.5% และอาจกดดันให้การส่งออกทั้งปี 2567 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีก็เป็นได้ 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีทรัมป์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรับมืออย่างยิ่งกับสถานการณ์ดังกล่าวประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่

  1. เข้าถึงคู่ค้าของตนเอง ด้วยการติดต่อประสานงานกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิด
  2. เข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
  3. เข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
  4. เข้าใจสถานการณ์ให้ถ่องแท้ เพื่อนำมาใช้ประเมินผลกระทบกับธุรกิจของตน

ปัจจุบัน EXIM BANK ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเปิด Export Clinic ให้คำปรึกษาแนวทางในการปรับตัว มาตรการช่วยเหลือทางการเงินทั้งการยืดหนี้ เสริมสภาพคล่องและกระจายตลาดใหม่ ๆ

ตลอดจนบริการเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงรอบด้านเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถฝ่าฟันสงครามการค้าครั้งนี้ และกลับมาเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

บทความโดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธปท.)


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.